![]() จัดอบรมความรู้ให้ครู และผู้นำชุมชนด้านการดูแลโภชนาการและการทำเกษตรอย่างยั่งยืน | ![]() ส่งเสริมให้เด็กๆ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อเพิ่มผลผลิตหลากหลายที่มีคุณภาพ และปลอดภัย |
![]() ผลผลิตจากการเกษตร นำมาทำอาหารกลางวันที่มีโภชนาการครบถ้วนสำหรับเด็กๆ | ![]() จำหน่ายวัตถุดิบที่เหลือเพื่อเป็นรายได้ หมุนเวียนกลับมาสู่ชุมชน |
การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของเด็กๆ คือวิธีหนึ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อร่วมดูแลสังคมให้แข็งแรงในระยะยาว โครงการฯ มีความตั้งใจจริงที่อยากเห็นเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศได้เข้าถึงแหล่งโภชนาการที่ครบถ้วนอย่างยั่งยืน เราจึงเดินหน้าจัดทำโครงการฟาร์มสุขภาพของหนูอย่างต่อเนื่อง ด้วยการส่งเสริมให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 22 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ได้พัฒนาต่อยอดพื้นที่การเกษตรภายในโรงเรียนให้เป็นฟาร์มสุขภาพของเด็กๆ กว่า 3,000 คนในโรงเรียนในปีนี้
การทำโครงการฟาร์มสุขภาพของหนูคือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวชนบทที่มีการทำเกษตรและเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว สิ่งที่เราทำคือการเข้าไปส่งเสริมความรู้ให้โรงเรียนและเด็กๆ ร่วมกันวางแผนการทำการเกษตรผสมผสานที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อได้ผลผลิตที่หลากหลายและเพียงพอต่อความต้องการปริมาณสารอาหารที่ครบถ้วนของนักเรียน พร้อมส่งเสริมการทำเกษตรด้วยวิธีธรรมชาติเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับอาหารทุกมื้อ
อีกหนึ่งความรู้ที่มีความสำคัญภายใต้โครงการนี้คือ การส่งเสริมให้โรงเรียนจัดสรรมื้ออาหารของเด็กๆ ให้มีสารอาหารครบถ้วนและมีสัดส่วนทางโภชนาการที่สมดุลทุกมื้อ อีกทั้งส่งเสริมให้คุณครูหมั่นสังเกต มีการประเมินผลภาวะร่างกายและสุขภาพของนักเรียนเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กๆ มีสุขภาพที่ดี และมีพัฒนาการเจริญเติบโตที่สมวัย พร้อมสำหรับทุกการเรียนรู้ และเป็นอนาคตที่ดีของชาติต่อไป
ฟาร์มสุขภาพของหนูเป็นโครงการที่ส่งเสริมแนวคิดเรื่องสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กๆ การส่งเสริมให้โรงเรียนได้เป็นศูนย์กลางความรู้ในการทำเกษตรผสมผสานที่ปลอดภัยและการเน้นดูแลสารอาหารให้แก่เด็กๆ โดยองค์รวมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ การส่งต่อความรู้ที่ได้รับจากการลงมือปฏิบัติจริงในโครงการ ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนรอบข้าง สามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้หรือแม้กระทั่งการออกนอกพื้นที่โรงเรียนไปแบ่งปันเมล็ดพันธุ์พืชกับครอบครัวของเด็กๆ เป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนและชุมชนด้วย ขณะเดียวกันโรงเรียนก็ยังสามารถสร้างรายได้จากการนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคมาขายให้แก่ชุมชนใกล้เคียง และนำรายได้นี้มาใช้เป็นทุนหมุนเวียนภายในโรงเรียนได้ต่อไป
นอกจากเรื่องของการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย การดูแลโภชนาการและการได้เป็นศูนย์กลางความรู้สู่ชุมชนแล้ว การที่เด็กๆ ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน ได้ลงมือทำจริง หรือที่เรียกว่า Active Learning ถือเป็นอีกสิ่งสำคัญ การเปิดโอกาสให้เด็กๆ รู้จักวางแผนการทำเกษตรและเลี้ยงสัตว์ร่วมกับคุณครู ได้ลงมือทำจริง มีการคิดและวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาจากการลงมือทำ จะช่วยพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กๆ ไปตลอดชีวิต