17 JAN 2022 บทความผลิตภัณฑ์ 13 นาทีในการอ่าน 9245 VIEWS 15 แชร์

โพรไบโอติก...ดูแลสุขภาพผู้หญิงทุกวันในสไตล์คุณ

ในยุคปัจจุบันที่คนเราหันมาสนใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งความรู้ในด้านการป้องกันและรักษาโรคต่างๆเริ่มหันมาให้ความสนใจในแนวทางที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นและหลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น การใช้โพรไบโอติกซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ทั้งที่เป็นแบคทีเรียและยีสต์ เช่น แล็กโทบาซิลลัส บิฟิโดแบคทีเรียม และแซคคาโรไมซิส ได้รับความสนใจและนำมาใช้มากขึ้นทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค โพรไบโอติกเหล่านี้รู้จักกันทั่วไปในนาม “จุลินทรีย์ดี” ที่มีส่วนช่วยในการปรับสมดุลของระบบนิเวศในร่างกาย และลดจำนวนของจุลินทรีย์ไม่ดี รวมทั้งช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย นอกจากประโยชน์ด้านสุขภาพต่อระบบทางเดินอาหารและร่างกายโดยทั่วไปแล้ว ยังมีการนำโพรไบโอติกมาใช้เพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพผู้หญิงโดยเฉพาะการดูแลสุขอนามัยจุดซ่อนเร้นและระบบทางเดินปัสสาวะส่วนปลาย โดยช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนหลังจากการรักษา

โพรไบโอติก คืออะไร?

โพรไบโอติก เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กซึ่งจัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี สามารถพบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโซะ ฯลฯ ประโยชน์ของโพรไบโอติกในรูปของอาหารได้มีการเผยแพร่มานานหลายศตวรรษแล้ว แต่ในปัจจุบันโพรไบโอติกมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เม็ดรับประทาน เม็ดเคี้ยว ผงสำหรับชง ฯลฯ

ตามคำจัดความ “โพรไบโอติก คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้สุขภาพดีในภาวะต่างๆ โดยเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง สามารถจับที่บริเวณผิวของอวัยวะแล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพได้”

โพรไบโอติกมีหลากหลายสายพันธุ์ทั้งที่เป็นแบคทีเรียและยีสต์ ได้แก่

แล็กโทบาซิลลัส

เป็นแบคทีเรียที่สามารถพบได้ในระบบทางเดินอาหาร ช่องคลอด และทางเดินปัสสาวะ แบคทีเรียชนิดนี้สามารถสร้างไบโอฟิล์มที่จะช่วยให้อยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น สภาวะความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ตัวอย่างของโพรไบโอติกในกลุ่มนี้ ได้แก่ แล็กโทบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส แล็กโทบาซิลลัส รามโนซัส แล็กโทบาซิลลัส คาเซอิ แล็กโทบาซิลลัส ริวเทริ เป็นต้น

มีรายงานการศึกษาวิจัยว่าการใช้โพรไบโอติก แล็กโทบาซิลลัส แอซิโดฟิลัสร่วมกับ แล็กโทบาซิลลัส สายพันธุ์อื่นสามารถช่วยป้องกันการท้องเสียได้หลายรูปแบบทั้งการท้องเสียจากการท่องเที่ยว ท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจำพวกคลอสติเดียม รวมทั้งท้องเสียที่เกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน รวมทั้งมีประโยชน์ในการสร้างสมดุลของสุขภาวะในช่องคลอดและป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้ช่องคลอดอักเสบทั้งจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา รวมทั้งลดการเกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ยังพบว่ามารดาตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรรับประทานโพรไบโอติก แล็กโทบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส จะช่วยลดอาการผื่นแพ้และผิวหนังอักเสบในทารกได้ ส่วนแล็กโทบาซิลลัส รามโนซัส เป็นหนึ่งในโพรไบโอติกที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ในขณะที่แล็กโทบาซิลลัส คาเซอิ จะส่งผลให้ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าลดลง

บิฟิโดแบคทีเรียม

ปกติแล้วบิฟิโดแบคทีเรียมมีประโยชน์ในการช่วยย่อยอาหาร ช่วยผลิตกรดไขมันสายสั้นและช่วยลดการอักเสบ แต่เริ่มมีงานวิจัยที่บ่งว่าสามารถที่จะนำมาใช้ในการรักษาอาการลำไส้แปรปรวน ท้องเสียจากการท่องเที่ยว และอาการลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล

แซคคาโรไมซิส

คือโพรไบโอติกที่เป็นยีสต์ซึ่งใช้ในการรักษาสมดุลของทางเดินอาหารมานาน ใช้ในการรักษาและป้องกันอาการท้องเสียหลายแบบ ได้แก่ ท้องเสียที่เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ ท้องเสียจากการท่องเที่ยว และท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลอสติเดียม เป็นต้น

ปัจจุบันนี้พบว่าโพรไบโอติกจากเชื้อแบคทีเรียกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเนื่องจากมีการศึกษาถึงคุณประโยชน์และความปลอดภัยในวงกว้างมากขึ้น

โพรไบโอติกมีบทบาทมากมายที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่างๆโดยทั่วไปต่อร่างกาย ดังนี้

  • ป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคจับกับผนังเยื่อบุลำไส้ เยื่อบุผนังช่องคลอด เยื่อบุผนังกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ลดโอกาสการติดเชื้อในระบบต่างๆ ดังกล่าว
  • ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อฉวยโอกาสในร่างกาย
  • กระตุ้นระบบย่อยอาหารโดยการสร้างเอนไซม์หลากหลายชนิด
  • ช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย
  • เหนี่ยวนำการกระตุ้นการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน ทำให้มีการสร้างสารป้องกันเชื้อโรค และรักษาระดับความสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน

จากการศึกษาวิจัยพบว่าโพรไบโอติกจะมีประโยชน์ในการรักษาและบรรเทาความผิดปกติในทางเดินอาหาร เช่น อาการลำไส้แปรปรวน ท้องผูก กรดไหลย้อน ท้องร่วงจาการติดเชื้อ ท้องร่วงจากการรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน ภาวะไม่ทนต่อแลคโตส ฯลฯ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกือบ70% อยู่ที่ระบบทางเดินอาหาร การที่มีโพรไบโอติกที่เป็นจุลินทรีย์ดีในปริมาณที่สมดุลกับจุลินทรีย์ชนิดอื่นจึงเป็นรากฐานของการมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี นอกจากนี้โพรไบโอติกยังช่วยในเรื่องการดูแลรักษาและป้องกันโรคภูมิแพ้ที่ผิวหนัง และแพ้อากาศ รวมทั้งช่วยในการดูแลสุขภาพผู้หญิงทั้งในระบบทางเดินปัสสาวะและระบบการเจริญพันธุ์อีกด้วย โดยช่วยลดภาวะการติดเชื้อในช่องคลอด ช่องคลอดแห้งในภาวะหมดประจำเดือน และการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ โดยที่โพรไบโอติกสามารถที่จะเคลื่อนย้ายภายในช่องท้องส่วนอุ้งเชิงกรานจากลำใส้ใหญ่สู่กระเพาะปัสสาวะและช่องคลอดได้เนื่องจากลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ช่องคลอด และกระเพาะปัสสาวะมีผนังที่อยู่ใกล้ชิดกัน

โพรไบโอติกจึงอาจกระจายตัวผ่านผนังของลำไส้เข้าสู่เยื่อบุช่องท้องส่วนอุ้งเชิงกรานและไปสู่ช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะที่อยู่ใกล้เคียงกันได้ หรือออกจากทางทวารหนักเข้าไปสู่ช่องคลอดและท่อปัสสาวะส่วนปลายได้เนื่องจากปลายเปิดของทวารหนัก ช่องคลอด และปลายเปิดของท่อปัสสาวะส่วนปลายอยู่ใกล้เคียงกัน โพรไบโอติกที่ออกจากทวารหนักจึงอาจเข้าสู่ช่องคลอดและท่อปัสสาวะส่วนปลายไปสู่กระเพาะปัสสาวะได้จากการปนเปื้อนเวลาถ่ายอุจจาระหรือจากการทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระไม่ถูกวิธี เช่น การเช็ดทำความสะอาดจากด้านหลังไปด้านหน้า หรือการฉีดน้ำทำความสะอาดที่อาจทำให้เชื้อโพรไบโอติกกระจายเข้าสู่ช่องคลอดและท่อปัสสาวะส่วนปลายเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้

พรีไบโอติก

คือ อาหารชนิดหนึ่งเป็นสิ่งไม่มีชีวิตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายและดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก จึงสามารถเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้ในรูปแบบที่ไม่เปลี่ยนแปลง และจะถูกย่อยสลายโดยโพรไบโอติกที่เป็นจุลินทรีย์ดี ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของโพรไบโอติก พบมากในหัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วแดง ผัก และผลไม้ต่างๆ รวมทั้งสารอาหารจำพวกกลูแคน และฟรุคแทน เช่น อินูลิน

ความสำคัญของโพรไบโอติกกับสุขภาพของผู้หญิง

ปรับสมดุลจุลินทรีย์และ
ค่า pH จุดซ่อนเร้นให้เหมาะสม

ลดโอกาสการติดเชื้อในช่องคลอด
และทางเดินปัสสาวะ

ช่วยป้องกันการติดเชื้อ
ซ้ำซ้อนในผู้หญิง

ช่องคลอดของผู้หญิงเป็นช่องทางหนึ่งที่อวัยวะภายในเปิดออกสู่ภายนอก ดังนั้นภาวะสมดุลของช่องคลอดจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการรักษาสุขภาพของเพศหญิง โดยปกติแล้วในช่องคลอดจะมีแบคทีเรียประจำถิ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิด “แล็กโทบาซิลลัส” ที่จะมีคุณสมบัติในการย่อยสลายแป้งไกลโคเจนที่สร้างจากเยื่อบุผนังช่องคลอดเป็นกรดแลคติกที่จะทำให้ช่องคลอดมีสภาวะความเป็นกรดอ่อนที่มีค่า pH ประมาณ 4.5 ที่จะช่วยทำให้แล็กโตบาซิลลัสสามารถเจริญเติบโตได้ดีในขณะที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรค นอกจากนี้ยังช่วยในการผลิตสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไชด์ และสารแบคทีริโอซิน ที่จะช่วยฆ่าแบคทีเรียชนิดอื่นที่เป็นอันตรายต่อช่องคลอด

รวมทั้งช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียการ์ดเนอเรลล่าวาจินาลิส ที่ทำให้เกิดช่องคลอดอักเสบและมีกลิ่น และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในช่องคลอดรวมทั้งช่วยป้องกันการเกิดการติดเชื้อราซ้ำซ้อนการรักษาสมดุลของช่องคลอดยังช่วยลดการอักเสบติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะส่วนปลายโดยเฉพาะกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการที่ทำให้แบคทีเรียก่อโรคไม่สะสมในบริเวณช่องคลอดและปากช่องคลอดอีกด้วย

ปัญหาสุขภาพของช่องคลอดในผู้หญิงไทย

ช่องคลอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อในสามอันดับแรก ได้แก่ ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียการ์ดเนอเรลล่าวาจินาลิส (ร้อยละ40-50) เชื้อรา (ร้อยละ20-25) และเชื้อพยาธิทริโฆโมแนส (ร้อยละ15-20) โดยที่การติดเชื้อทั้งสามชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ยกเว้นเชื้อราที่นอกจากติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ยังอาจเกิดจากการรักษาสุขอนามัยของจุดซ่อนเร้นไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม หรือเกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคอื่นเป็นเวลานานทำให้เชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกตามธรรมชาติในช่องคลอดตายไปด้วย เชื้อราที่เป็นเชื้อฉวยโอกาสจึงแพร่พันธุ์มากขึ้นและเกิดช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา

นอกจากนี้การติดเชื้อราซ้ำซ้อนภายหลังการรักษาก็เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของโลกและทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษารวมทั้งบั่นทอนคุณภาพชีวิตลงไป โดยปัญหาการติดเชื้อราซ้ำซ้อนสามารถพบได้ในผู้หญิงอายุระหว่าง 15-54 ปี แต่ในช่วงอายุ 25-34 ปีเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดการติดเชื้อราซ้ำซ้อนมากที่สุดโดยที่ร้อยละ 9 จะมีโอกาสติดเชื้อราซ้ำซ้อนได้ นอกจากนี้จะพบว่าผู้หญิง 3 ใน 4 คน หรือกว่า 75% จะเกิดการติดเชื้อราในช่องคลอดอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต และการติดเชื้อแบคทีเรียการ์ดเนอเรลลาวาจินาลิสนั้นส่วนใหญ่ ร้อยละ85 ไม่มีอาการอักเสบรุนแรงของช่องคลอดจนเกิดตกขาวผิดปกติหรือมีอาการแสบคันช่องคลอดและจุดซ่อนเร้นเช่นการติดเชื้อโรคชนิดอื่น ส่วนใหญ่มักมีอาการรู้สึกว่าจุดซ่อนเร้นมีกลิ่นคล้ายคาวปลาซึ่งกลิ่นจะรุนแรงมากขึ้นหลังการมีเพศสัมพันธ์หรือในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน เนื่องจากในช่วงดังกล่าวจะทำให้อุณหภูมิของจุดซ่อนเร้นสูงขึ้นกลิ่นคาวปลาที่เกิดจากของเสียของเชื้อจุลินทรีย์การ์ดเนอเรลล่าจึงระเหยออกมาได้ง่าย ซึ่งกลิ่นดังกล่าวจะทำให้ผู้หญิงสูญเสียความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตและการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่ครองได้ ปัญหานี้ถ้าได้รับการป้องกันและรักษาถูกต้องเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนแล้วก็จะเพิ่มความมั่นใจและผู้หญิงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อาการติดเชื้อในช่องคลอดนั้นส่วนใหญ่จะเกิดอาการตกขาวผิดปกติ บางครั้งมีสีที่เปลี่ยนไปเป็นสีเขียวเหลือง เหมือนหนอง มีกลิ่นผิดปกติ และอาจจะมีเลือดปนออกมาได้โดยที่ไม่ตรงกับช่วงเวลามีประจำเดือน คันบริเวณอวัยวะเพศ แสบร้อนเวลาปัสสาวะ รวมทั้งอาจรู้สึกเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงหลายคนเมื่อเกิดช่องคลอดอักเสบแล้วอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบอีกด้วย

โรคติดเชื้อในช่องคลอดถ้ารักษาไม่ถูกต้องเหมาะสมและนานเพียงพออาจจะทำให้เกิดโรคติดเชื้อเรื้อรังได้โดยเฉพาะเชื้อราที่พบได้บ่อย เนื่องจากถ้าหลังการรักษาแล้วไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และมีวิธีการดูแลสุขอนามัยจุดซ่อนเร้นให้ถูกต้อง รวมทั้งการป้องกันและรักษาสมดุลของสภาวะช่องคลอดแล้วก็อาจจะเกิดติดเชื้อซ้ำซ้อนได้อีก

การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะและเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบในผู้หญิงพบได้มากกว่าผู้ชาย โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะพบในผู้หญิงอายุระหว่าง 20-50 ปี โดยอุบัติการณ์ของการเกิดจะแตกต่างกันไปแล้วแต่รายงานโดยสามารถพบได้ร้อยละ 25-30 โดยที่ร้อยละ 30 จะพบในผู้หญิงในช่วงอายุไม่เกิน 25 ปี ส่วนผู้หญิงวัยทองหรือหมดประจำเดือน (อายุประมาณ 50 ปี ในผู้หญิงไทย) มีอุบัติการณ์กระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อร้อยละ 7.7 ต่อปี และประมาณ 1 ใน 4 ราย หรือ 25% จะมีโอกาสติดเชื้อได้อีกในระยะเวลา 1-2 ปี และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและมีการป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนแล้วก็จะเกิดการอักเสบเรื้อรังของกระเพาะปัสสาวะที่อาจจะนำไปสู่ การเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ การติดเชื้อที่กรวยไตซึ่งมีผลต่อเนื่องให้มีโอกาสเป็นนิ่วในไตเพิ่มและอาจจะเป็นสาเหตุของการเสื่อมของเนื้อไตและเกิดภาวะไตวายได้ ในบางรายงานทางการแพทย์ยังพบว่าการเกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะเรื้อรังอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะป้องกันการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะจากการดูแลรักษาความสะอาดที่ถูกต้องและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้เกิดความสมดุลของช่องคลอดก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องถือปฏิบัติ

ผู้หญิงมีท่อปัสสาวะส่วนปลายสั้นและปลายเปิดออกสู่บริเวณปากช่องคลอดและอยู่ใกล้ทวารหนักทำให้มีโอกาศติดเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในบริเวณนั้นและเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเชื้อที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้ออีโคไล 75-95% โดยสาเหตุหลักมักจะมาจากการทำความสะอาดหลังจากขับถ่ายอุจจาระไม่ถูกต้อง เช่น การฉีดน้ำทำความสะอาดหรือใช้กระดาษชำระจากด้านหลังมาด้านหน้าทำให้แบคทีเรียจากทวารหนักเปื้อนปนเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบในผู้หญิงยังอาจจะมาจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด การสวนปัสสาวะ การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำน้อย เป็นเบาหวาน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ และภาวะวัยทอง เป็นต้น

การสวนล้างช่องคลอดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อได้เพราะจะไปทำลายสมดุลของความเป็นกรดของช่องคลอดและล้างเอาจุลินทรีย์ดีที่ช่วยป้องกันออกไป อาการที่พบบ่อยคือ ปัสสาวะไม่สุด ปวดเจ็บเวลาปัสสาวะสุด ปัสสาวะมีเลือดปน หรือมีสีขุ่น เวลาปัสสาวะมีอาการแสบ เป็นต้น

การรักษาที่ถูกต้องควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อที่จะตรวจหาเชื้อสาเหตุจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเพียงพอ รวมทั้งทำให้เชื้อไม่ดื้อยาจนเกิดเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง และควรป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนด้วยการไม่กลั้นปัสสาวะ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นอย่างถูกวิธีโดยการทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งหลังการถ่ายปัสสาวะและอุจจาระแต่หลีกเลี่ยงการใช้สายล้างทำความสะอาดสาธารณะเนื่องจากสกปรกและมีการเปื้อนปนของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค การใช้ผ้าชื้นทำความสะอาดเมื่อใช้ห้องน้ำสาธารณะควรจะเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อไม่ให้แบคทีเรียเชื้อโรคจากลำไส้ใหญ่ปนเปื้อนเข้าสู่ช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะจากปลายเปิดของท่อปัสสาวะส่วนปลายที่อยู่ใกล้ชิดกับช่องคลอด รวมทั้งรักษาสมดุลของช่องคลอดตามธรรมชาติ

จะป้องกันและรักษาสมดุลของช่องคลอดตามธรรมชาติได้อย่างไร

การใช้ชีวิตในรูปแบบปัจจุบันทำให้สมดุล
ของช่องคลอดตามธรรมชาติเสียไป

การรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดไม่ว่าจะเกิดจากการปรุงอาหารที่ไม่สุกหรืออาหารหมักดองทำให้จุลินทรีย์เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจนเกิดการเสียสมดุลกับจุลินทรีย์ดี หรือรับประทานอาหารที่มียาปฏิชีวนะปนเปื้อนอยู่และไปฆ่าจุลินทรีย์ดีในช่องคลอด ล้วนแต่ทำให้สมดุลของช่องคลอดตามธรรมชาติเสียไป ความเครียดรวมทั้งการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลงโอกาสที่เชื้อโรคฉวยโอกาสจะเจริญเติบโตในช่องคลอดจึงมากขึ้น

การดูสุขอนามัยในชีวิตประวัน และการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่รักษาความสะอาดก่อนและหลังมีกิจกรรมก็ทำให้เกิดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรคและเชื้อราเข้าสู่ช่องคลอดไปทำให้เสียสมดุลกับจุลินทรีย์ดี นอกจากนี้การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานก็จะไปเปลี่ยนสภาพของผนังช่องคลอดให้บางลงรวมทั้งค่าความเป็นกรดลดลงจนเชื้อราเจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญผู้หญิงนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนเพศหญิงที่จะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนเพศหญิงที่ลดลงจะไปทำให้ผนังช่องคลอดบางลงและสารอาหารของจุลินทรีย์โพรไบโอติกธรรมชาติลดลง ทำให้ไม่สามารถผลิตกรดแลคติกได้เพียงพอจนความเป็นกรดอ่อนๆเสียไป ไม่สามารถป้องกันและฆ่าจุลินทรีย์ก่อโรคได้เหมือนเดิม

การดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปมีการทำงานนอกบ้านมากขึ้นทำให้การแต่งตัวเปลี่ยนไป การศึกษาวิจัยพบว่าการใส่เสื้อผ้ารัดรูปและผ้าใยสังเคราะห์โดยเฉพาะกางเกงยีนส์และกางเกงชั้นในที่รัดแน่น รวมทั้งการใช้ผ้าอนามัยแผ่นเล็กปิดจุดซ่อนเร้นเพื่อการรักษาความสะอาดล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบริเวณจุดซ่อนเร้นทั้งสิ้น นอกจากนี้การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลจุดซ่อนเร้นที่มีการผสมน้ำยาฆ่าเชื้อและมีความเป็นด่างสูงล้วนแต่ไปทำอันตรายต่อจุลินทรีย์ดีบริเวณจุดซ่อนเร้นทั้งสิ้น ทำให้เชื้อโรคฉวยโอกาสเจริญเติบโตได้ดีและเกิดปัญหาต่อจุดซ่อนเร้น รวมทั้งการใช้ห้องน้ำสาธารณะที่ไม่สะอาดหรือใช้สายฉีดน้ำจากห้องน้ำสาธารณะซึ่งอาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของช่องคลอดและอาจจะลุกลามไปถึงกระเพาะปัสสาวะได้

ปัญหาต่างๆแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันและการส่งเสริมสุขภาพของจุดซ่อนเร้นที่ถูกวิธี

ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ โดยหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นมากเกินไป โดยเฉพาะกางเกงหนาๆ เช่น กางเกงยีนส์ หลีกเลี่ยงการใช้ชุดชั้นในที่ผลิตจากผ้าใยสังเคราะห์รวมทั้งการใช้ผ้าอนามัยแผ่นเล็กเป็นระจำเพื่อการรักษาความสะอาด งดการสวนล้างช่องคลอด หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่เป็นด่างทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น และระวังการทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระให้ถูกวิธี ใช้ผลิตภัณฑ์ในการดูแลจุดซ่อนเร้นที่เหมาะสม รวมทั้งหลีกเลี่ยงการซื้อยาปฏิชีวนะใช้เองเมื่อเกิดโรค

ที่สำคัญที่สุดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และการติดเชื้อซ้ำซ้อนจะต้องปรับสุขภาวะของจุดซ่อนเร้น ปรับสภาพความเป็นกรดด่างให้อยู่ในภาวะกรดอ่อนๆ และมีปริมาณของแล็กโทบาซิลลัสสายพันธ์ุธรรมชาติในปริมาณที่เหมาะสม โดยมีการศึกษาวิจัยพบว่า การได้รับโพรไบโอติก แล็กโทบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส และแล็กโทบาซิลลัส รามโนซัส ในปริมาณที่เพียงพอจะช่วยลดอุบัติการณ์ในการติดเชื้ออักเสบของช่องคลอด และลดโอกาส การติดเชื้อซ้ำซ้อนลงได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราและช่วยลดการอักเสบติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะอีกด้วย

การดูแลรักษาสมดุลของช่องคลอดทั้งการรักษาความสะอาดที่ถูกต้องและการปรับสมดุลให้ช่องคลอดมีจุลินทรีย์ชนิดดี(โพรไบโอติก)ในปริมาณที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรคนอกจากจะช่วยลดการเกิดช่องคลอดอักเสบเรื้อรังและซ้ำซ้อนที่นอกจากเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังแล้ว การอักเสบเรื้อรังของช่องคลอดอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเซลล์มะเร็งจากการติดเชื้อก็ได้

นอกจากประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาวะของจุดซ่อนเร้น ป้องกันการติดเชื้อและการติดเชื้อซ้ำซ้อนของช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะแล้วโพรไบโอติกยังมีส่วนช่วยในการรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหาร ช่วยในการย่อยอาหารให้สมบูรณ์ ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหารบางชนิด รวมทั้งการที่มีความสมดุลของโพรไบโอติกที่เป็นจุลินทรีย์ดีในลำไส้ยังมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ลดอาการเครียด ช่วยเพิ่มคุณภาพในการนอน และช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย

การเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้หญิง

  • เลือกโพรไบโอติกสายพันธุ์ที่เป็นสายพันธุ์หลักของระบบการเจริญพันธุ์ ระบบทางเดินปัสสาวะส่วนปลาย และระบบทางเดินอาหาร ที่มีการศึกษาวิจัยรองรับถึงคุณประโยชน์
  • มีปริมาณของจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มากเพียงพอที่จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
  • มีส่วนผสมของพรีไบโอติกที่เป็นอาหารให้โพรไบโอติกใช้เพื่อการเจริญเติบโต
  • ผลิตภัณฑ์มีความน่าเชื่อถือ มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีแหล่งที่มาของเชื้อที่มีคุณภาพตรวจสอบได้
  • เก็บรักษาง่าย คงสภาพดี ทานง่าย และสะดวกในการบริโภคในชีวิตประจำวัน
ดาวน์โหลดบทความ (PDF)

เอกสารอ้างอิง

  1. Antonio MA , Rabe LK , Hillier SL. Colonization of the rectum by Lactobacillus species and decreased risk of bacterial vaginosis. Infect Dis 2005 ; 192(3):394-398.
  2. Aroutcheva A , Garit D , Simon M et al. Defense Factors of vaginal lactobacilli. Am J Obstet Gynecol.2001;185:375-379.
  3. Bertuccini L , Russo R , Losi F , Superti F . Effect of Lactobacillus Rhamnosus and Lactobacillus acidophilus on bacterial vaginal pathogens. Int J Immunopathol Pharmacol.2017;30(2):163-167.
  4. Blake E. The Gut-Vagina-Bladder- Axis and UTIs. Invivo. Available at invivohealthcare.com/education/articles/urinary tract-infections-microbiome/
  5. Borges S , Silva J , Teixeira P . The role of lactobacilli and probiotics in maintaining vaginal health. Arch Gynecol Obstet. 2014;289:479-489.
  6. Carolina MA Santos , Maria CV Pires , Thiago L.Leao et al. Selection of Lactobacillus strains as potential probiotics for vaginitis treatment. Microbiology 2016; 162(7):1-31.
  7. Cristiano L ,Rampello S ,Noris C , Valota V .Bacterial vaginosis: prevalence in an Italian population of asymptomatic pregnant women and diagnostic aspects. Eur J Epidermiol 1996;12(4):383-390.
  8. Cottrel BH. An updated review of evidence to discourage douching. MCN Am J Matern Child Nurs 2010;35:102-108.
  9. De Alberti D, Russo R, Teruzzi F et al.Lactobacilli vaginal colonization after oral consumption of Respecta complex: a randomized controlled pilot study. Arch Gynecol Obstet 2015;292(4):861-867.
  10. Denning DW,Kneale M,Sobel JD,Richardson RR. Global burden of recurrent vulvovaginal candidiasis: a systemic review. Available from www.thelancet.com/infection . http://dx.dol.org/10.1016/51473-3099(18)30103-8.
  11. De Vrese M , Schrezenmeir J. Probiotics,prebiotics,and synbiotics . Available from: http://www.ncbinim.nih.gov/pubmed/18461293.
  12. Donders GG. Deinition and classification of abnormal vaginal flora. Best Pract Res Clin Obstet Gynecol.2007;21:355-373.
  13. Gil NF , Martinez RC, Games BC et al . Vaginal lactobacilli as potential probiotics against Candida SPP. Brazilian J Microbiol 2010;41:6-14.
  14. Gor HB . What is the prevalence of vaginitis ? Medscape( update Dec 04,2018). Available at http://www.medscape.com/answers/257141-185653/what-is-the-prevalence-of-vaginitis.
  15. Hassan S , Chatwani A , Brovender H et al. Douching for perceived vaginal odor with no infectious cause of vaginitis: a randomized controlled trial. J Low Genit Tract Dis 2011;15:28-34.
  16. Hillier SL, Austin M , Marcio I et al . Diagnosis and treatment of vaginal discharge syndromes in community practice setting. Clin Epi Infect Dis 2021;72:1538-1543.
  17. Homayouni A , Bastani P, Ziyadiiiiiiiiii S, Mohammed-Alizadeh-Charandabi et al. Effect of probiotics on the recurrence of bacterial vaginosis: a review. J Low Genit Tract Dis. 2014;18(1):79-86.
  18. Justin LC , Jennifer ME , Beate BL, Joanne LS. Health effects and sources of Prebiotic dietary fiber. Available from:http://www.ncbi.nim.nih.gov/pmc/artiles/PMC6041804/pdf/nzy005.pdf.
  19. Kos B, Suskovic J , Vukovic S et al. Adhesion and aggregation ability of probiotic strain Lactobacillus acidophilus M92. J Appl Microbiol 2003;94:981-987.
  20. Lamont RF, Sobel JD, Akins RA et al. The vaginal microbiome: new information about genital tract flora using molecular based techniques. BJOG 2011;118:533.
  21. Larsen B, Monif GR. Understanding the bacterial flora of the female genital tract . Clin Infect Dis 2001;32(4):69-77.
  22. Lewis AL, ilbert NM . Roles of the vagina and the vaginal microbiota in urinary tract infection: evidence from clinical correlations and experimental models. GMS Infectious Diseases 2020;8:1-10.
  23. Martin DH. The microbiota of the vagina and its influence on women’s health and disease. Am J Med Sci 2012;343:2-9.
  24. Mashburn J. Etiology ,diagnosis, and management of vaginitis. J Midwifery Women’s Health 2006;51:423-430.
  25. Mastromarino P. Vitali B, Mosca L. Bacterial vaginosis: a review on clinical trials with probiotics. New Microbiol 2013;36:229-238.
  26. Mayo Clinic . Vaginal odor 2018. Available from : http://www.mayoclinic.org/symptoms/vaginal-odor/basics/causes/sym-200506644p.
  27. MedlinPlus. Vaginal Diseases. Bethesda MD:US. National Library of Medicine(updated 15 July 2019) . Available from : http://medlineplus.gov/vaginaldiseases.html.
  28. Mestrovic T. Matijasic M,Peric M et al. The Role of Gut,vaginal, and urinary Microbiome in Urinary Tract Infections : From Bench to Bedside. Diagnostic ( Basel) 2021. Published online 2020. Dec 22.doi:10.3390/diagnostics11010007 Available from http://www.ncbi.nim.nih.gov/articles/PMC7822161/
  29. Oakley BB, Fiedler TL, Marrazzo JM , Fredricks DN. Diversty of human vaginal bacterial communities and association with clinically defined bacterial vaginosis . Appl Environ Microbiol 2008;74:4898-4909.
  30. Ouwehand AC, Donglian C , Weijian X et al. Probiotics reduce symptoms of antibiotic use in a hospital setting: a randomized dose response study. Vaccine. 2014;32(4):458-463.
  31. Petrova ML , Lievens , Malik S , Imholz N , Leber S. Lactobcillus species as biomarkers and agents that can promote various aspects of vaginal health. Front Physiol 2015;6-15.
  32. Public health statstics Bureau of Policy and Strategy. Available at http://bps.moph.go.th/new_bph/sites/default/files/health_statistc 2558pdf.
  33. Reid G. The development of probiotics for women’s health. Can J Microbiol.2017;63(4):269-277.
  34. Reid G , Bruce AW . Selection of Lactobacillus strains for urogenital probiotics applications . J Infect Dis 2001;183(suppl 1):S77-S80.
  35. Rodgers CA , Beardall AJ. Recurrent vulvovaginal candidiasis; why does it occur. Nat J STD AIDS 1999;10:435-444.
  36. Rosario R , Antoine E , Francesso DS. Study on the effects of an oral lactobacilli and lactoferin complex in women with intermediate vaginal microbiota. Arch gyn Ob 2018;publish online.
  37. Russo R, Superti F, Karadja E, De Seta F. Evidence-based mixture containing Lactobacillus strains and lactoferrin to prevent recurrent bacterial vaginosis: a double blind,placebo controlled, randomized clinical trial. Benef Microbes . 2019;10(1):19-26.
  38. Russo R , Superti F, Karadja E, De Seta F. Randomised clinical trial in women with recurrent vulvovaginal candidiasis:efficacy of probiotics and lactoferrin as maintainance treatment. Mycoses 2018;62(4):328-335.
  39. Russo R, Edu A, De Seta F. Study on the effects of oral lactobacilli and lactoferrin complex in women with intermediate vaginal microflora. Arch Gynecol Obstet.2018;298(1):139-145.
  40. Schaffer AJ, Matulewitz RS, Klumpp DJ. Infection of the urinary tract. In Kavoussi LR, Novick AC , Partin AW eds Campbell-Walsh . Urology II , Philadelphia , Saunders 2016 pp 237-303.
  41. Slykerman RF,Hood F, Wickens K et al. Effects of Lactobacillus rhamnosus HN001 in pregnancy of postpartum symptoms of depression and anxiety: A randomized double-blind placebo-controlled trial. EbioMedicine 2017;24:159-165.
  42. Sobel JD, Barbieri MD. Approach to females with symptoms of vaginitis-Up to date. ( last updated) May25,2021). Available from http://www.uptodate.com/contents/approach-to-females-with-symptoms-of-vaginitis?search=vaginitis&source=search_result&selectedTitle=1-1...
  43. Strus M , Chmielarc Zyk A , Kochan P et al.Studies on the effects of probiotic Lactobacillus mixture given orally on vaginal and rectal colonization and on parameters of vaginal health in women with intermediate vaginal flora. Eur J Obstet Gynecol Reprod Biol 2012;163(2):210-215.
  44. WebMD. Vaginal Discharge: What’s abnormal? 2018. Available from : http://www.webmd.com/women/guide/vaginal-discharge-whats-abnormal#1.
  45. Wickens K, Black P. Stanley TV et al. A differential effects of 2 probiotics in the prevention of eczema and atopy: a double blind randomized placebo controlled trial. J Allergy Clin Immunol 2008;122(4):788-794.
  46. เกรียงศักดิ์ จิตวัชรนันท์ใ การศึกษาภาวการณืดื้อยารักษาเชื้อราในช่องคลอดของสตรีที่มารับบริการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ศูนย์กามโรคและโรคเอดส์เขต 10 เชียงใหม่ Available from. http://he02.tci-thaijo.org/index.php/LPH/article/view/208186.
  47. เจนจิต ฉายะจินดา สุรชัย เดชอาคม .การรักษาโรคติดเชื้อราในช่องคลอดชนิดเกิดซ้ำ เวชบันทึกศิริราช ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 พค-สค 2562.
  48. ประนอม บุพศิริ การอักเสบของช่องคลอดซ้ำซากจากเชื้อรา . Srinakarind Medical Journal. Vol 21 No 3 Available from www.smj.ejnal.com/showdetail/?show_detail-T&art_id=1188.
  49. ภัทร ศักดิ์สิริสัมพันธ์ ใ กระเพาะปัสสาวะอักเสบและการป้องกันการเกิดซ้ำโดยให้คำปรึกษาสร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในผู้ป่วยเพศหญิง . J Public Health 2018;48(2) :222-231.
  50. สาเหตุของตกขาวปกติและตกขาวผิดปกติ ค้นหาจากhttp://www.canesten.co.th/causes-of-leukorrhea.
  51. รศ นพ ดร สมพล เพิ่มพงศ์โกศล การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ เอกสารประกอบการสอนนักศึกษาแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 2556.